วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ดร.เอ็มเบ็ดการ์ : จากจัณฑาลสู่รัฐบุรุษ

เคยไม๊ที่ตอนอ่านหนังสือเตรียมสอบแล้วรู้สึกเหนื่อยจังเลย ไม่อยากอ่านอีกต่อไปแล้ว อยากให้ลองอ่านประวัติของดร.เอ็มเบ็ดการ์ดู แล้วจะรู้ว่าเราความเหนื่อยยากของเราเป็นแค่เรื่องขี้ปะติ๋วถ้าเทียบกับตัวท่าน
"เกียรติคุณของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ จะต้องถูกจดจำรำลึกถึงต่อไปตราบนานเท่านาน ในฐานะที่ท่านเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อล้มล้างความอยุติธรรมในสังคมฮินดู ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ต่อสู้กับสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าจำเป็นจะต้องต่อสู้ ดร.เอ็มเบ็ดการ์เป็นผู้ปลุกมโนธรรมสำนึกของสังคมฮินดูให้ฟื้นตื่นขึ้นมาจากความหลับใหล"
เยาวหราล เนห์รู
อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษของอินเดีย
เปือกตมที่บ่มเพาะดอกบัว
ในสังคมอินเดียซึ่งประชากรส่วนใหญ่กว่า 80% นับถือศาสนาฮินดูนั้น มีการแบ่งประชาชนออกเป็น 4 วรรณะ คือ
1.วรรณะกษัตริย์ ทำหน้าที่ปกครองและเป็นนักรบ
2.วรรณะพราหมณ์ ทำหน้าที่ทางศาสนาและเป็นครูบาอาจารย์
3.วรรณะแพศย์ ทำหน้าที่ค้าขายและกสิกรรม
4.วรรณะศูทร ทำหน้าที่เป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน
วรรณะทั้ง 4 นี้เรียกว่าเป็นพวก 'สวรรณะ' (คนมีวรรณะ) นับว่ายังมีเกียรติมีฐานะในสังคมอินเดียเหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม นอกจากวรรณะทั้ง 4 นี้แล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพระเจ้าของศาสนาฮินดูไม่ยอมจัดให้สังกัดในวรรณะใด คนทั่วไปจึงเรียกพวกเขาว่าเป็นพวก 'อวรรณะ' (คนนอกวรรณะ) คนอวรรณะเหล่านี้อาจเรียกว่าเป็นวรรณะที่ 5 ก็ได้ พวกอวรรณะมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ คือจัณฑาล, หริชน, หินชาติ, ปาริหะ, ปัญจมะ, มาหาร์, อธิศูทร เป็นต้น คนนอกวรรณะเหล่านี้ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก คือ
1.พวกที่แตะต้องไม่ได้ (Untouchables)
2.พวกที่เข้าใกล้ไม่ได้ (Unapproachables)
3.พวกที่มองดูไม่ได้ (Unseeables)
พวกนอกวรรณะเหล่านี้มีสถานภาพไม่ต่างอะไรกับทาส หรือสัตว์ดิรัจฉานชนิดหนึ่งในสายตาของคนในวรรณะทั้ง 4 ข้างต้น สำหรับคนนอกวรรณะอย่างพวกเขาแล้ว ไม่มีสิทธิอะไรในทางสังคมนอกจากเกิดมาเพื่อทำหน้าที่เป็น 'ข้าช่วงใช้' หรือ 'แรงงานทาส' ของคนในวรรณะเท่านั้น อาชีพสำหรับพวกเขาก็คือ งานที่เกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งสกปรกโสโครกทั้งปวง เช่น กวาดถนน ขนขยะ ล้างท่อ ฟอกหนัง กรรมกร เป็นอาทิ ที่อยู่อาศัยของพวกเขาก็ต้องแยกออกมาต่างหากจากคนในวรรณะ และที่ที่เหมาะสำหรับพวกนอกวรรณะก็คือ ข้างกองขยะ แหล่งชุมชนแออัด หรือย่านคนจนที่อยู่ห่างไกลออกไปจากคนในวรรณะ
พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
แปรคำปรามาสเป็นพลัง
ดร.เอ็มเบ็ดการ์ (Dr.B.R.Ambedkar) ถือกำเนิดมาในครอบครัวของคนจัณฑาลหรืออธิศูทรที่ยากจนข้นแค้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2434 ณ หมู่บ้านของคนจัณฑาลชื่ออัมพาวดี อำเภอรัตนคีรี รัฐมหาราษฎร์ (บอมเบย์) ประเทศอินเดีย บิดาของท่านชื่อ 'รามจิ สักปาล' (Ramji Sakpal) เคยมีอาชีพเป็นทหารมาก่อน เมื่อปลดประจำการแล้วจึงยึดอาชีพกรรมกรขายแรงงานที่หาเช้ากินค่ำ มารดาของท่านเป็นสตรีในวรรณะจัณฑาลเหมือนกัน ชื่อ 'พิมมาไบ' (Bhimabai) ทั้งสองมีลูกด้วยกันถึง 14 คน เอ็มเบ็ดการ์นับว่าเป็นคนสุดท้อง แต่ต่อมาพี่น้องส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตเหลืออยู่ด้วยกันเพียง 5 ชีวิตเท่านั้น
เมื่อยังเล็ก ดร.เอ็มเบ็ดการ์ มีชื่อว่า 'พิม' (Bhim) พออายุ 2 ขวบก็เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งพร้อมกับพี่ชายอีก 2 คน อยู่ต่อมาอีกจนอายุ 4 ขวบมารดาก็มาตายจากไป และนับแต่นี้ไปชีวิตครอบครัวของพิมก็มีแต่เลวร้ายลงไปทุกที อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดมาท่ามกลางความขัดสนและท่ามกลางสังคมที่อยุติธรรมไปเสียทุกอย่าง แต่พ่อของพิมก็ไม่ท้อยอมทำงานหนักสายตัวแทบขาดเพื่อส่งให้ลูกของตนได้เรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น เมื่อพิมเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้วพ่อจึงส่งเสียให้เขาได้เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาต่อทันที ชีวิตในโรงเรียนมัธยมสำหรับลูกของคนจัณฑาลเป็นชีวิตที่ถูกดูถูกเหยียดหยามไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉานตัวหนึ่งเลยทีเดียว ความอาภัพของชนชั้นจัณฑาลที่พิมได้ประสบด้วยตัวเองในระหว่างที่เรียนหนังสืออยู่นั้นมีมากมาย เช่น
1.ช่วงปิดเทอมคราวหนึ่งพิมและพี่ชายได้ชวนกันออกเดินทางไปหาพ่อซึ่งทำงานอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ในระหว่างทางพวกเขาได้ว่าจ้างเกวียนคันหนึ่งให้ไปส่ง แต่พอเดินทางไปได้ไม่ไกลนัก คนขับเกวียนก็รู้จากการสนทนาว่าเด็กทั้งสามเป็นลูกคนจัณฑาลชั้นต่ำ เขาจึงไล่เด็กทั้งสามลงจากเกวียนทันที ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเชื่อว่าคนจัณฑาลจะนำอัปมงคลมาสู่ตัวเขาและเกวียนของเขา พิมและพี่ชายไม่มีทางเลือกต้องลงเดินด้วยเท้าจากหมู่บ้านหนึ่งไปถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง ตลอดทางตั้งแต่บ่ายจนถึงเที่ยงคืนไม่มีอะไรตกถึงท้องพวกเขา เพราะไม่ว่าจะเข้าไปหาน้ำดื่มจากที่ไหน ก็จะถูกไล่ตะเพิดเหมือนเป็นตัวเสนียดจัญไร
2.วันหนึ่งพิมไปตัดผมที่ร้านตัดผมแต่พอนายช่างรู้ว่าเขาเป็นลูกคนจัณฑาลก็ไล่ตะเพิดเขาออกจากร้านพร้อมทั้งยังบริภาษตามหลังออกมาอีกว่า "เขายินดีตัดผมให้กับคนทุกคน หรือยินดีตัดขนให้กับสัตว์ดิรัจฉาน แต่เขาจะไม่ยอมให้กรรไกรของตัวเองแตะต้องผมของพวกคนจัณฑาลอย่างเด็ดขาด" นับแต่นั้นมาพี่สาวคนหนึ่งของพิมก็เลยกลายเป็นช่างตัดผมประจำตัวของเขาไปโดยอัตโนมัติ
3.ที่โรงเรียนพิมจะถูกกำหนดให้นั่งอยู่หลังห้องแยกต่างหากจากเด็กคนอื่น เขาไม่มีสิทธิจะอ่านโคลง กลอนภาษาสันสกฤตเหมือนเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ เพราะภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นสูงอย่างวรรณะพราหมณ์เท่านั้น ครูประจำชั้นจะไม่ยอมแตะต้องสมุด หนังสือ หรือแม้แต่เดินเฉียดกรายมาใกล้พิมเป็นอันขาด เพราะเขาเชื่อว่าพิมเป็นตัวอัปรีย์จัญไรที่ใครเข้าใกล้แล้วจะมีมลทิน ขณะที่อยู่ในโรงเรียนนั้นหากเกิดกระหายน้ำขึ้นมาพิมไม่มีสิทธิจะไปตักน้ำดื่มด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาเกรงว่าพิมจะไปทำบ่อน้ำเป็นอัปมงคล ด้วยเหตุนี้ หากทนกระหายไม่ได้จริงๆ พิมจึงต้องเป็นฝ่ายขอร้องให้เพื่อนคนใดคนหนึ่งที่มีใจอารีไปตักน้ำมาให้ แล้วให้เขาค่อยๆ รินน้ำลงใส่ปากตัวเองอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ เพื่อมิให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของพิมไปถูกภาชนะใส่น้ำ หรือไปสัมผัสกับผู้ที่มีเมตตาที่มารินน้ำใส่ปากให้เขา
ที่โรงเรียนครูทุกคนล้วนสังกัดวรรณะพราหมณ์ ไม่ว่าพิมจะเดินเฉียดกรายไปทางไหน ฝูงชนจะแตกออกเป็นทางและจากนั้นเสียงสาปแช่งก่นด่าเยาะเย้ยถ่มถุยก็จะตามมา จนดูเหมือนกับว่าพิมเป็นสิ่งสกปรกที่เขาโยนขึ้นมาจากท่อข้างถนนก็มิปาน ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมพิมรู้สึกเหมือนอยู่ในนรก และเพราะต้องทนอยู่ท่ามกลางสภาพสังคมอันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมในทุกเรื่องเช่นนี้เอง พิมจึงเตือนตนเองอยู่เสมอว่า
"สักวันหนึ่งเราจะต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้นไปเพื่อให้พ้นจากภาวะอันต่ำต้อยนี้ให้ได้ และการที่จะทำเช่นนั้นได้ มีวิธีเดียวเท่านั้น คือจะต้องตั้งใจเรียนให้ถึงที่สุด เพราะด้วย 'การศึกษา' เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนจัณฑาลได้รับการยอมรับ"
จากปณิธานที่ก่อรูปขึ้นในใจอย่างเงียบๆ อันนี้เอง ส่งผลให้พิมกลายเป็นเด็กเรียนดีที่สอบได้คะแนนสูงสุดในทุกวิชาในทุกภาคการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโลกจะแล้งไร้ความอยุติธรรมไปเสียหมดก็หาไม่ วันหนึ่งครูของพิมซึ่งเป็นพราหมณ์ก็ได้สังเกตเห็นว่า แม้พิมจะเป็นลูกของคนจัณฑาลชั้นต่ำ แต่เขาก็เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนจนน่ายกย่อง ซ้ำนิสัยใจคอเล่าก็ทรหดอดทน ขยันหมั่นเพียรไม่ระย่อท้อถอย แววตาทอประกายของคนที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวให้เห็นอยู่เสมอ ด้วยความช่างสังเกตจนค้นพบความดีที่ซ่อนอยู่ในตัวของพิม บวกกับความมีมนุษยธรรมในหัวใจ ครูคนนั้นจึงคอยช่วยพิมด้วยการแบ่งอาหารให้เขารับประทานเป็นบางมื้อ แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ครูใจพระคนเดียวกันนี้ก็เรียกพิมไปหาแล้วอนุญาตให้เขาใช้นามสกุลของตัวเองแทนนามสกุล 'สักปาล' (ซึ่งเป็นนามสกุลที่ใครได้ยินก็รู้ว่าเป็นชนชั้นจัณฑาล) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพิมจึงมีนามสกุลใหม่ว่า 'เอ็มเบ็ดการ์'
พิม สักปาล กลายเป็น พิม เอ็มเบ็ดการ์ ทำให้เขามีมานะพยายามเพิ่มขึ้นเป็นทวีตรีคูณ อุตส่าห์ ตั้งใจเรียนจนในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาด้วยผลการเรียนที่ดีเยี่ยมในทุกวิชา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษด้วยแล้วคะแนนดูเหมือนจะสูงกว่าวิชาอื่นๆ ด้วยซ้ำไป และด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองให้พ้นไปจากขุมนรกของชนชั้นต่ำให้ได้นี่เอง เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมแล้วพิมกับบิดาก็หาทางเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยบอมเบย์จนสำเร็จ
แต่โชคร้ายยังไม่หมดไปจากพิม เอ็มเบ็ดการ์ เพราะแม้ในช่วงแรกที่เขาเข้าเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็น 'จัณฑาล' (นามสกุลเอ็มเบ็ดการ์ทำให้ไม่มีใครสงสัยในฐานะอันแท้จริงของเขา) แต่อยู่ต่อมาไม่นานเมื่อความลับนี้ถูกเปิดเผย ความเลวร้ายต่างๆ ก็ประเดประดังเข้าหาพิมอีกเช่นเคย อาจารย์หลายคนไม่ยอมแม้แต่จะมองหน้าเขา เพื่อนร่วมชั้นหลีกห่างจากเขา หรือแม้แต่คนขายน้ำในโรงอาหารก็ไม่ยอมขายน้ำให้เขา แต่นี่ยังพอเป็นเรื่องที่พิมยอมรับได้แต่เมื่อเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นที่เจ้าของร้านไม่อนุญาตให้พิมเข้าไปซื้ออาหารในร้าน พิมก็เริ่มตระหนักชัดแล้วว่าโลกแทบไม่มีที่ว่างให้คนจัณฑาลอย่างเขาได้หยัดยืนขึ้นมาอย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์เลย
ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไร แต่หัวใจนักสู้ของพิมก็ยังแกร่งอยู่เสมอ ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นี้ บิดาของพิมได้พยายามวิ่งเต้นขอทุนจากองค์กรต่างๆ มาสนับสนุนให้พิมได้เรียนต่อให้สูงที่สุด เพราะเขาก็ตระหนักรู้เช่นเดียวกับลูกชายว่า ด้วยการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เขาและลูกชายไปพ้นจากสภาพครึ่งคนครึ่งสัตว์เช่นที่เป็นอยู่นี้ได้ แล้ววันหนึ่งพิมก็ได้รับทุนการศึกษาจากมหาราชาแห่งเมืองบาโรด้า ด้วยทุนการศึกษาก้อนนี้ทำให้พิมมีกำลังใจเรียนหนังสือจนในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์เมื่อปี พ.ศ.2455
สั่งสมภูมิปัญญาก่อนคิดการใหญ่
ช่วงเวลาที่เอ็มเบ็ดการ์ยังเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ประเทศอินเดียตกอยู่ในความยึดครองของประเทศอังกฤษ คนอินเดียจึงถูกกดขี่ข่มเหงในแทบจะทุกทาง กลุ่มคนที่รวมตัวกันต่อต้านอังกฤษถูกจับไปฆ่า ทำทารุณกรรมและถูกจับขังคุกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พิม เอ็มเบ็ดการ์ ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังคุกคามประเทศของตนเหล่านี้เป็นอย่างดี เขาจึงตั้งปณิธานว่า "ในชีวิตนี้เรามีภารกิจที่จะต้องทำอยู่ 2 อย่าง นั่นก็คือ หนึ่ง ทำลายระบบวรรณะ สอง ช่วยให้ประเทศอินเดียเป็นเอกราชจากการยึดครองของอังกฤษ" แต่การที่จะทำให้ภารกิจสองอย่างนี้บรรลุผลได้มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น นั่นก็คือตัวเขาจะต้องเรียนให้สูงที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วก็คงไม่มีเครื่องมือที่จะมาทำงานอันหนักหน่วงและทรงความสำคัญเช่นนั้นได้
หลังสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีแล้ว พิม เอ็มเบ็ดการ์ ก็ได้รับทุนการศึกษาจากมหาราชาแห่งบาโรด้าให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เอ็มเบ็ดการ์น้อมรับความเมตตานี้ด้วยความซาบซึ้งในหัวใจอย่างสุดจะพรรณนา เขาสำนึกดีว่า หากไม่ได้รับความเมตตาจากมหาราชาพระองค์นี้แล้ว ชีวิตของเขาก็คงไม่มีทางได้ก้าวไปข้างหน้า เอ็มเบ็ดการ์จึงเตือนตนว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเขาจะต้องกลับมาทดแทนพระคุณของพระองค์ให้คุ้มค่าอย่างถึงที่สุด
ทันทีที่ได้เดินทางมาศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา เอ็มเบ็ดการ์ก็อุทิศตนให้กับการศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน เขาอ่านหนังสือไม่ต่ำกว่าวันละ 18 ชั่วโมง ตั้งอกตั้งใจตักตวงความรู้ให้มากที่สุด ภายในเวลาเพียง 2 ปีเขาก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ดร.เอ็มเบ็ดการ์ไม่เพียงแต่จะศึกษาจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะเมื่อมีเวลาว่างท่านจะตระเวนซื้อหนังสือเก่าสะสมไว้ใช้เป็นอาหารสมองให้ตนเองได้ไม่น้อยกว่า 2,000 เล่ม
หลังสำเร็จการศึกษา ดร.เอ็มเบ็ดการ์ เดินทางกลับประเทศอินเดีย และตั้งใจกลับไปทำงานเพื่อทดแทนบุญคุณของมหาราชาแห่งบาโรด้า แต่ทันทีที่ข่าวของท่านแพร่สะพัดออกไป ไม่มีใครสักคนหนึ่งไปรับท่านที่สถานีรถไฟ ไม่มีบ้านพักแห่งไหนในเมืองบาโรด้ายินยอมให้ท่านเข้าไปพัก ซ้ำเมื่อเดินทางมาถึงสำนักงานของมหาราชาผู้เป็นเจ้าของทุน ทุกคนที่อยู่ในสำนักงานก็แสดงท่าทีรังเกียจอย่างไม่ปิดบัง ต่างคนต่างก็ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นเสนียดจัญไร เป็นมนุษย์ชั้นสองที่หลุดมาจากชายขอบ หรือป่าชายเลนที่ไหนสักแห่งในโลก และเมื่อ ดร.เอ็มเบ็ดการ์กลับมาจากที่ทำงานในวันหนึ่งท่านก็พบกับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งถือปืนมาล้อมห้องพักที่เช่าไว้ พร้อมทั้งขู่ให้ท่านย้ายออกภายใน 8 ชั่วโมง
ดร.เอ็มเบ็ดการ์ไม่นึกว่าคนเหล่านั้นจะรังเกียจคนจัณฑาล ซึ่งมีการศึกษาระดับปริญญาเอกอย่างเขาถึงเพียงนี้
เมื่อไม่มีทางเลือกท่านก็จำต้องย้ายออกจากหอพักอย่างฉุกละหุก หลังจากพาตัวเองหนีพ้นเคราะห์กรรมมาได้ชนิดเส้นยาแดงผ่าแปดแล้วท่านก็เดินระหกระเหินเรื่อยไป สุดท้ายก็มานั่งร้องไห้อยู่คนเดียวในที่แห่งหนึ่งอย่างน่าสมเพช ดร.เอ็มเบ็ดการ์เฝ้าถามตัวเองว่า
"สัตว์ดิรัจฉานยังได้รับอนุญาตให้อยู่ในบ้านของคนในวรรณะได้ แล้วนี่ตัวเราเองเป็นคนแท้ๆ แต่ทำไมไม่มีใครให้การต้อนรับขับสู้เราเลย ไปที่ไหนก็ถูกขับไล่ไสส่งยิ่งกว่าสัตว์ เราจะปล่อยให้สภาพเช่นนี้ยังคงอยู่ไปอีกนานสักเท่าไหร่กัน"
เมื่อหมดทางไปในบ้านเกิดเมืองนอน ดร.เอ็มเบ็ดการ์จึงไปสมัครเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยแห่งหนึ่งและเก็บหอมรอมริบเงินเดือนไว้ศึกษาต่อ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ก็ได้รับการดูถูกดูแคลนจากอาจารย์ในวรรณะอื่นอีกเช่นเคย แต่ท่านไม่ท้อ พยายามหาทางวิ่งเต้นยืมเงินจากเพื่อนได้จำนวนหนึ่งแล้วจึงออกเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ ใช้เวลาไม่นานนักก็สำเร็จการศึกษาเป็น 'เนติบัณฑิต' อังกฤษ (ปริญญาโท) และยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกอีกถึง 2 สาขาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน
ปรับกระบวนทัศน์ พัฒนาสังคม
หลังสำเร็จการศึกษา (ปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ อินเดีย, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา, มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ, ไม่ต่ำกว่า 7 ปริญญา) ดร.เอ็มเบ็ดการ์ก็ได้กลับมาตั้งหลักปักฐานทำงานอยู่ที่บอมเบย์บ้านเกิดของตนเอง ที่นี่ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ได้ตั้งสำนักงานทนายความขึ้นมาเพื่อรับว่าความแทนคนทุกข์ยากในวรรณะชั้นต่ำ พร้อมกันนั้นก็ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง แสดงว่าสวรรค์เริ่มมีตาขึ้นมาบ้างแล้ว
กลับมาคราวนี้ ดร.เอ็มเบ็ดการ์อุทิศตนทำงานเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมอย่างเต็มที่ ชั่วเวลาไม่นานนักชื่อเสียงของท่านก็โด่งดังไปทั่วอินเดียในฐานะนักปฏิรูปสังคมผู้ต้องการทำลายระบบวรรณะให้หมดไปจากประเทศอินเดีย ผลแห่งความตั้งใจทำงานปฏิรูปสังคมทำให้คนนอกวรรณะต่างยกย่องท่านเสมือนหนึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งเลยทีเดียว ดร.เอ็มเบ็ดการ์ได้เขียนบทความต่อต้านระบบวรรณะในอินเดียอย่างต่อเนื่อง และบทความทุกเรื่องของท่านคมคายด้วยเหตุผล แหลมคม ด้วยมุมมองของนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เคยผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาแล้ว
จนมีคนเห็นด้วยและเข้าร่วมขบวนการต่อต้านระบบวรรณะในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นเรือนแสนเรือนล้าน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อเห็นว่าได้เวลาอันเหมาะสมแล้ว ดร.เอ็มเบ็ดการ์จึงประกาศทำพิธีเผาคัมภีร์ 'มนูธรรมศาสตร์' อันเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาฮินดูที่กำหนดให้มีระบบวรรณะที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับคนจำนวนมหาศาลในอินเดีย
ดร.เอ็มเบ็ดการ์เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลของการกระทำในครั้งนี้เอาไว้ต่างกรรมต่างวาระ เช่นครั้งหนึ่งท่านกล่าวต่อหน้าที่ประชุมคนจัณฑาลทั้งหลายว่า
"ถ้าพวกท่านต้องการจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างสมหวัง พวกท่านก็ควรทิ้งศาสนา (ฮินดู) นี้เสีย ศาสนาที่ไม่ยอมรับว่าท่านเป็นมนุษย์เยี่ยงมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ยอมแม้จะอนุญาตให้ท่านดื่มน้ำสักหยดเดียวเมื่อท่านกระหาย ไม่ยอมอนุญาตให้ท่านเข้าวัดกราบไหว้สิ่งที่ท่านเคารพ แล้วยังจะสมควรเรียกศาสนานี้ว่าเป็นศาสนาของท่านรึ 'ศาสนานี้กีดกันการศึกษาของท่าน ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของท่าน' ศาสนานี้ต้องการให้คนที่โง่เขลา (Ignorant) ได้โง่เขลาอยู่ต่อไป ให้คนที่ยากจน ได้ยากจนอยู่ต่อไป ข้าพเจ้าไม่ขอเรียกศาสนาเช่นนี้ว่าศาสนา แต่ขอเรียกว่าหลักการแห่งความหายนะ" ในตอนท้ายท่านสรุปว่า
"พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราไม่ใช่ดีเพราะโคตร ไม่ใช่ดีเพราะตระกูล ไม่ใช่ดีเพราะทรัพย์ แต่จะดีหรือชั่วอยู่ที่การกระทำของบุคคลนั้นๆ"
ขณะที่ทำการต่อสู้เพื่อล้มล้างระบบวรรณะนี้ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ยังเสียสละเวลาทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษาของคนจัณฑาลและด้านการเมืองควบคู่ไปด้วย ด้านการศึกษาท่านได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาถึง 2 แห่งเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่คนจากทุกวรรณะได้มีโอกาสเข้ามารับการศึกษาได้อย่างเสมอภาคกัน
มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งชื่อ 'มหาวิทยาลัยสิทธัตถะ' อีกแห่งหนึ่งชื่อ 'มหาวิทยาลัยมิลินทะ'
จากลูกคนจัณฑาลชีวิตพลิกผันเป็นรัฐมนตรี
ด้านการเมืองท่านก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ 'พรรคกรรมกรอิสระ' ดร.เอ็มเบ็ดการ์ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับราษฎรจากวรรณะจัณฑาลอย่างดียิ่ง ความเป็นคนจริงที่ต่อสู้เพื่อคนทุกข์คนยากอย่างไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง ทำให้ท่านได้รับเชิญเข้าเป็น 'รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม' เพื่อร่วมกันทำงานกับยอดคนอย่าง เยาวหราล เนห์รู มหาตมะ คานธี เป็นต้น
ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ร่วมมือกับพรรคคองเกรสของอินเดียต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษจนในที่สุดอินเดียก็ได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2490 เมื่อได้รับเอกราชแล้วรัฐสภาของอินเดียก็ได้แต่งตั้งให้ ดร.เอ็มเบ็ดการ์รับหน้าที่อันสำคัญที่สุดในชีวิตของตน ซึ่งมีจัณฑาลเพียงหนึ่งในล้านเท่านั้นที่จะได้รับโอกาสอันสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้
หน้าที่ดังกล่าวนี้ก็คือ การเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ
แทบไม่น่าเชื่อว่า โอกาสทองที่ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ต่อสู้และรอคอยมาทั้งชีวิตจะมาเกยถึงหน้าตักของท่านเร็วถึงเพียงนี้ ดังนั้น โดยไม่รอช้า ดร.เอ็มเบ็ดการ์จึงทำหน้าที่ปลดปล่อยคนอินเดียให้เป็นอิสระจากระบบวรรณะด้วยการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดียตอนหนึ่งว่า ไม่ให้ประชาชนอินเดียมีการเลือกปฏิบัติต่อกันและกันด้วยเหตุผลทางวรรณะ
และวรรณะจัณฑาลนั้น ก็ให้ยุบทิ้งเสียให้สิ้นซาก
อ้างอิงจากหนังสือ ธรรมมะงอกงามของท่านว.วชิระเมธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น